เปิดเทรนด์อสังหาฯ ปี 2564: คอนโดเริ่มไม่ตอบโจทย์คนทำงานที่บ้านเท่าบ้านเดี่ยวนอกเมือง
ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีนี้ยังคงไม่สดใสนัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการซื้อในบางพื้นที่ลดลง แม้จำนวนที่อยู่อาศัยพร้อมขายจะยังเหลืออยู่มากก็ตาม
คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วในปี 2564 ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเป็นอย่างไร ทั้งในเชิงสภาพของตลาดจะสดใสกว่าเดิม หรือยังคงมีปัจจัยที่ต้องระวัง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย จะเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรคือปัจจัยในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในปีหน้า
รถไฟฟ้าหลากสี ปัจจัยทำราคาอสังหาฯ ปริมณฑลเพิ่ม
กมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty ในเครือ PropertyGuru Group ได้เล่าถึงแนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ใน 3 จังหวัดปริมณฑล ตามแนวรถไฟฟ้า ที่ส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยกลุ่มคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์จะมีราคา 1-3 ล้านบาท ส่วนบ้านเดี่ยวมีราคา 5-10 ล้านบาท
ซึ่งจากราคาคอนโตมิเนียมและทาวน์เฮาส์ที่ใกล้เคียงกันในระดับ 1-3 ล้านบาท จะทำให้คอนโดมิเนียมขายได้ยาก เพราะมีราคาใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์
- จังหวัดนนทบุรี
รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนนทบุรีมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัจจัยที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยอื่นๆ ตามมา ทั้งห้างสรรพสินค้า และแหล่งทำงาน โดยบริเวณตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% จากรถไฟฟ้าสายสีม่วง และบริเวณตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)
- สมุทรปราการ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดสมุทรปราการเพิ่มขึ้นก็ยังคงเป็นรถไฟฟ้าเช่นเดิม ทั้งสายสีเขียว และสายสีเหลือง โดยบริเวณอำเภอเมืองสมุทรปราการ (BTS สถานี แพรกษา สายลวด และเคหะฯ) มีราคาเพิ่มขึ้น 21% นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาทำเลที่คอนโดมิเนียมมีราคาปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุด อยู่ที่บริเวณจังหวัดสมุทรปราการตามแนวรถไฟฟ้าทั้งสิ้น ได้แก่
ตำบลปากน้ำ บริเวณ BTS ปากน้ำ เพิ่มขึ้น 11%
ตำบลท้ายบ้านใหม่ เพิ่มขึ้น 8%
ตำบลเทพารักษ์ บริเวณ BTS สำโรง ทิพวัล และศรีเทพา เพิ่มขึ้น 6%
- ปทุมธานี
ปทุมธานีเป็นจังหวัดที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย ทั้งการพัฒนาของภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโครงการของรัฐบาล เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนบริเวณที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี คือ
ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 18%
ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 16%
ราคาอสังหาฯ เพิ่ม พฤติกรรมเลือกซื้อของคนก็เปลี่ยน
เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้พฤติกรรมของคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดย DDproperty ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ พบว่า
75% ชะลอการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากความกังวลด้านเศรษฐกิจ และรายได้
32% มองว่าราคาที่อยู่อาศัยมีความไม่แน่นอน
31% เชื่อว่าการขอสินเชื่อบ้านยากขึ้น หรือต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ
24% ให้ความสนใจกับที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสะอาด
20% ให้ความเห็นว่าเข้าไปดูโครงการที่สนใจยากขึ้น
นอกจากนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมที่ 33% ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในระยะเวลา 1 ปี ลดลงเหลือเพียง 20% เท่านั้น โดยคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-3 ปี เพื่อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย
ราคา ทำเล และสินเชื่อ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการซื้อที่อยู่อีกต่อไป
นอกจากปัจจัยด้านราคา ทำเล และสินเชื่อ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีปัจจัยใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นด้านการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ ที่จำเป็นต้องทำงานจากที่บ้านมากขึ้น
82% ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม
65% ให้ความสำคัญกับสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ต้องเสถียร
64% ให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นในบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวก
50% ให้ความสำคัญกับระบบระบายอากาศ ความร้อน และระบบประหยัดพลังงาน
43% ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัย
ส่วนประเด็นเรื่องการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ก็ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคกว่า 74% นำปัจจัยเรื่อง Work From Home มาเป็นส่วนตัดสินใจ โดยผู้บริโภคบางส่วนต้องการห้องนั่งเล่น และห้องครัวขนาดใหญ่ สำหรับการนั่งทำงาน และต้อนรับแขก แตกต่างจากในอดีตที่ให้ความสนใจกับพื้นที่ของห้องนอนมากกว่า
สอดคล้องกับความสนใจการซื้อที่อยู่อาศัยในแต่ละประเภทที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อคอนโดอาจไม่ได้ตอบโจทย์กับการทำงานที่บ้าน หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบ้านเดี่ยวได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 31% ทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น 10% แต่คอนโดมิเนียมลดลง 2%
นอกจากนี้แต่ละช่วงวัยยังมีความต้องการบ้านที่ต่างกัน คือ กลุ่มคนอายุ 22-29 ปี ให้ความสำคัญกับขนาดที่อยู่อาศัย 51% ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 30-49% ให้ความสำคัญกับขนาดที่อยู่อาศัย 55% ส่วนกลุ่มคนอายุ 50-59 ปี ให้ความสนใจกับส่วนกลางภายในโครงการ 53% และผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจทั้งขนาดที่อยู่อาศัย และส่วนกลางภายในโครงการ 53%
แหล่งที่มา : brandinside.asia By Pran Suwannatat -13/12/2020